วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ


คำว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นศัพท์บัญญัติที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำมาใช้อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยให้มีความหมายตรงกับคำว่า Ecotourism ในภาษาอังกฤษ ศัพท์บัญญัตินี้ได้รับความเห็นชอบจากราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบัญญัติศัพท์แล้ว
Ecotourism เป็นคำที่เกิดใหม่ในวงการ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยนำคำ ๒ คำมารวมกัน ได้แก่ eco และ tourism คำว่า eco แปลตามรูปศัพท์ว่า บ้านหรือที่อยู่อาศัย ส่วน tourism แปลว่า การท่องเที่ยว ecotourism จึงแปลว่า การท่องเที่ยวเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย หมายความถึง การท่องเที่ยวที่เน้นในด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์
ส่วนคำว่า นิเวศ ซึ่งเป็นคำภาษาสันสกฤตที่นำมาใช้ในภาษาไทย ก็แปลว่า บ้านหรือที่อยู่อาศัยเช่นกัน (ดูพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) ฉะนั้น การท่องเที่ยว เชิงนิเวศจึงเป็นศัพท์บัญญัติที่มีความหมายตรงกับคำในภาษาอังกฤษอย่างเหมาะสม
นอกจากคำว่า ecotourism แล้ว ยังมีคำอื่นๆที่มีความหมายใกล้เคียงหรือเกี่ยวข้อง กันอีกหลายคำ ได้แก่ green tourism แปลว่า การท่องเที่ยวสีเขียว หมายถึง การท่องเที่ยวสถานที่ทางธรรมชาติ โดยสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ biotourism แปลว่า การท่องเที่ยวเชิงชีวภาพ ซึ่งหมายถึง การท่องเที่ยวที่เน้นการศึกษาสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ และ agrotourism แปลว่า การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นในด้านเกษตรกรรม เพื่อให้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของพืชผลไร่นา และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร
เพื่อขยายความหมายของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จะขอกล่าวถึงคำนิยามที่นักวิชาการได้ให้ไว้ในที่ต่างๆ ดังนี้
๑. องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme - UNEP) สมาคมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism Society) และองค์การ การท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organi- zation) ให้คำนิยามว่า "การท่องเที่ยวที่ไม่เป็นการรบกวนลักษณะทางธรรมชาติ มุ่งหวังในด้านการศึกษา มีความพอใจต่อทัศนียภาพ พืชพรรณ และสัตว์ตามธรรมชาติ มีความเข้าใจต่อวัฒนธรรม ประวัติความเป็นมาของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยไม่เป็นการรบกวนต่อระบบนิเวศ ในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่จะทำ ให้เกิดการอนุรักษ์ต่อทรัพยากรของประชากร ในท้องถิ่น" (สุมาลี เทพสุวรรณ, ๒๕๔๔ : หน้า ๓๙)
๒. ดร. ราลฟ์ บักลีย์ (Dr. Ralph Buckley) ศาสตราจารย์ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยกริฟฟิท ประเทศออสเตรเลีย ให้คำนิยามสั้นๆว่า "การท่องเที่ยวที่อาศัยผลิตผลทางธรรมชาติ การจัดการที่ยั่งยืน และองค์ประกอบทาง การศึกษา ซึ่งมีส่วนก่อให้เกิดการอนุรักษ์" (Buckley, Ralph 1995 : p. 3)
๓. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้คำนิยามว่า"การเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใดแห่งหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการศึกษา ชื่นชม และเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพธรรมชาติ สภาพสังคม วัฒนธรรม และชีวิตของคนในท้องถิ่น บนพื้นฐานความรู้และความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศ" (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ๒๕๓๙ : หน้า ๑๐)



หลักการของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (sustainable tourism) มีหลักการที่สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ซึ่งเป็นกระแสความคิดหลักของโลกในช่วง ๒ ทศวรรษที่ผ่านมา และได้รับความสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Commission on Sustainable Development) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งหลักการโดยทั่วไปของการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือ จะต้องมีการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรอย่างพอดี เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ต่อไปได้ในระยะเวลายาวนาน และมีการกระจายผลประโยชน์ให้แก่คนส่วนใหญ่ รวมทั้งมีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย เมื่อนำหลักการนี้มาปรับใช้กับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงมีจุดเน้นที่สำคัญดังนี้
๑. จะต้องดูแลทรัพยากรการท่องเที่ยว ให้สามารถใช้ประโยชน์ต่อไปได้ในระยะเวลา ยาวนานจนถึงชั่วลูกชั่วหลาน มิใช่เพียงเพื่อคนรุ่นปัจจุบันเท่านั้น
๒. ลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง และลดปริมาณของเสียที่จะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
๓. มีการกระจายรายได้และผลประโยชน์ให้แก่คนในท้องถิ่นที่มีแหล่งท่องเที่ยวตั้งอยู่ เปิดโอกาสให้ชุมชนในท้องถิ่นได้เข้าร่วมในการจัดการ และการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
๔. มีการประชุมปรึกษาหารือกันอย่างสม่ำเสมอระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว และชุมชนในท้องถิ่น เพื่อการวางแผนงาน การจัดสรรงบประมาณ และการจัดการทรัพยากรอย่างเหมาะสม ๕. มีการสร้างเครือข่ายเพื่อเผยแพร่แนวคิด การศึกษาวิจัย และความรู้เกี่ยวกับการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ออกไปในหมู่ประชาชน ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง



หลักการของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (conservation tourism) มีหลักการที่สำคัญคือ
๑. จะต้องมีการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หรือทรัพยากรการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ให้คงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุด ไม่ถูกทำลายไป
๒. กระตุ้นจิตสำนึกของคนในท้องถิ่นให้พยายามดูแลรักษาและปกป้องทรัพยากรการท่องเที่ยวเหล่านั้น โดยไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นผลเสียต่อทรัพยากรการท่องเที่ยว เพียงเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตน ๓. ให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยว เพื่อตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวที่ตนเดินทางเข้าไปเยือน และให้ความร่วมมือแก่ชุมชนในท้องถิ่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อันเป็นมรดกตกทอด ของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ให้คงสภาพที่ดีต่อไป นานๆ




นโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ให้ทำการศึกษาโครงการดำเนินการเพื่อกำหนดนโยบาย การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และสถาบันดังกล่าวได้ทำรายงานขั้นสุดท้ายเสนอต่อการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ ในรายงานได้มีการเสนอนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนา เพื่อเป็นแนวทางให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนำไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
นโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเสนอไว้ในรายงานมีดังนี้
๑. ต้องมีการควบคุม ดูแล รักษา และจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวให้คงสภาพ เดิมแท้ไว้ให้มากที่สุด หลีกเลี่ยงหรืองดเว้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่อ่อนไหว ง่ายต่อการถูกกระทบ หรือฟื้นตัวได้ยาก
๒. ต้องคำนึงถึงศักยภาพของทรัพยากรการท่องเที่ยวที่มีอยู่ มีการจัดกิจกรรมที่เหมาะสม และปรับให้เกิดความสมดุลกับรูปแบบและกิจกรรมที่มีอยู่แต่เดิม
๓. ต้องคำนึงถึงการพัฒนาด้านการให้การศึกษา สร้างจิตสำนึกที่ดีในการรักษาระบบนิเวศร่วมกัน มากกว่าการมุ่งเน้นความ เจริญทางด้านเศรษฐกิจ และการมีรายได้แต่เพียงอย่างเดียว
๔. ต้องให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรในท้องถิ่น ในการจัดการทรัพยากร การบริการ การแลก-เปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมของชุมชนในกระบวนการท่องเที่ยว รวมทั้งการมีส่วนร่วม ในการวางแผนพัฒนา หรือการให้ประชาชน มีตัวแทนเป็นคณะกรรมการร่วมในทุกระดับ
๕. ให้องค์กรต่างๆกำหนดบทบาทที่ชัดเจนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีการจัดสรรงบประมาณ บุคลากร และกำหนดวิธีการจัดการที่เหมาะสม
๖. นำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเข้าสู่แผนพัฒนาระดับต่างๆอย่างมีความ สำคัญ ได้แก่ แผนพัฒนาท้องถิ่น แผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาภาค พร้อมทั้งให้มีการจัดสรรและกระจายงบประมาณอย่างทั่วถึง และเพียงพอ
๗. สนับสนุนการศึกษาวิจัย และประเมินผลการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างรอบด้าน เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการ การแก้ไขปัญหา และการปรับปรุงแผนอย่างเป็นขั้นตอน
๘. มีการใช้กฎหมายในการควบคุมดูแลและรักษาสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด โดยเน้นการแนะนำ ตักเตือน และการสร้างวินัยการท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย
๙. จัดทำแนวทางปฏิบัติ หรือคู่มือการจัดการ ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการ มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อย่างถูกต้อง ๑๐. จัดให้มีเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทั้งในทางแนวตั้งและแนวนอน โดยให้มีการประสานงานด้านข้อมูลข่าวสารและ การจัดการร่วมกันในทุกระดับ



กลยุทธ์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยได้เสนอกลยุทธ์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ควบคู่ไปกับนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อให้เป็นแนวทางที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำไปพิจารณาดำเนินการด้วยเช่นกัน โดยแบ่ง กลยุทธ์ออกเป็น ๖ ด้าน ดังนี้
๑. กลยุทธ์ด้านการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยวิธีการที่สำคัญ คือ
- การสงวนรักษา ฟื้นฟู ควบคุมดูแลทรัพยากรในระบบนิเวศให้คงสภาพไว้ เพื่อสามารถนำมาเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยว ได้นานที่สุด หรือตลอดไป
- ทรัพยากรการท่องเที่ยวจำเป็นต้องได้รับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย โดยป้องกันและลดสาเหตุที่อาจทำให้เกิดปัญหามลพิษ
- เจ้าของพื้นที่และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้แก่ ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว สถาบันต่างๆในสังคม องค์กรประชาชน และประชาชนในท้องถิ่น ต้องร่วมมือกันในการอนุรักษ์ รักษาสภาพ ไม่ทำลายหรือสร้าง ความเสียหายแก่ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
๒. กลยุทธ์ด้านการจัดการโครงสร้างพื้นฐานและบริการการท่องเที่ยว มีวิธีการที่สำคัญ คือ
- มีความเข้มงวดในการรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและทางสังคม โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริการการท่องเที่ยวนั้น จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม และมีความกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เส้นทางคมนาคมเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว เส้นทางศึกษาธรรมชาติ การบริการที่พัก การบริการอาหารและเครื่องดื่ม
๓. กลยุทธ์ด้านการศึกษาและสื่อความหมายธรรมชาติ ประกอบด้วยวิธีการที่สำคัญ คือ
- เป็นสื่อกลางทางการศึกษาและการเรียนรู้ด้านระบบนิเวศของนักท่องเที่ยว เพื่อที่จะสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- มีการให้ข้อมูลก่อนการท่องเที่ยว การศึกษาระหว่างการท่องเที่ยว รวมทั้งการให้การศึกษาเพิ่มเติมในภายหลังด้วย
- ให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง และได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้นั้นๆ เช่น การสื่อความหมายธรรมชาติ การฝึกอบรม การเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง กรณีศึกษา การเล่นเกม บทบาทสมมติ การอภิปราย
๔. กลยุทธ์ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น ประกอบด้วยวิธีการที่สำคัญ คือ
- ให้ความสำคัญแก่ประชาชนในท้องถิ่น ในด้านที่จะมีบทบาทในการกำกับดูแลและควบคุมการท่องเที่ยวได้มากขึ้น และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี
- ส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาตนเองเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานของ รัฐกับชุมชน และระหว่างชุมชนกับเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เช่น ร่วมพัฒนาจุดขายต่างๆ ได้แก่ ที่พักอาศัย ภัตตาคาร การนำเสนอลูกค้าด้านวัฒนธรรม ศิลปะและประเพณีต่างๆที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว
๕. กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการตลาดและบริการนำเที่ยว ประกอบด้วยวิธีการที่สำคัญ คือ
- จัดให้เกิดความสมดุลระหว่างความสามารถในการรองรับของพื้นที่ กับปริมาณนักท่องเที่ยว เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นทรัพยากรที่มีความอ่อนไหว อาจได้รับผลกระทบได้ง่าย หากมีนักท่องเที่ยวมากเกินไป
- มุ่งส่งเสริมให้พัฒนาเป็นตลาดที่มีคุณภาพ ไม่ใช่พยายามเพิ่มปริมาณของนักท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียว
- ให้มีการจัดบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ โดยให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว และควบคุมพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวให้อยู่ในกรอบของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
๖. กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการลงทุน มีวิธีการที่สำคัญ คือ - รัฐบาลกลางและหน่วยงานของรัฐจะต้องมีส่วนสนับสนุนอย่างแข็งขัน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริการ โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นมากขึ้น




การจำแนกระบบนิเวศ

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับลักษณะทางธรรมชาติของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จึงขออธิบายถึงวิธีการจำแนกระบบนิเวศออกเป็นระบบใหญ่ๆ โดยแหล่งท่อง-เที่ยวเชิงนิเวศแต่ละแห่งอาจจัดอยู่ในระบบนิเวศอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
๑. ระบบนิเวศทางบก (land ecosystem) หมายถึง ระบบนิเวศที่ปรากฏอยู่บนพื้นแผ่นดิน ซึ่งเป็นภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบ หุบเขา ในบริเวณดังกล่าวถ้าหากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยมนุษย์ไม่เข้าไปดัดแปลงหรือทำลาย ก็จะมีพืชพรรณธรรมชาติและสัตว์ป่าอาศัยอยู่ ในประเทศไทย ระบบนิเวศทางบกที่ยังคงสภาพตามธรรมชาติ ดั้งเดิม ส่วนใหญ่พบอยู่ตามบริเวณป่าเขา ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้ตามกฎหมาย เช่น อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า
๒. ระบบนิเวศทางทะเล (marine ecosystem) หมายถึง ระบบนิเวศที่ปรากฏอยู่ตามบริเวณชายฝั่งทะเล และในท้องทะเล ได้แก่ เกาะ สันดอนและสันทรายชายฝั่ง หาดปะการัง ปะการังใต้น้ำ ในประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศทางทะเลอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งทางด้านอ่าวไทยและทางด้านทะเลอันดามัน เป็นตัวอย่างของระบบนิเวศทางทะเลในเขตภูมิอากาศร้อน ซึ่งยังคงมีความอุดมสมบูรณ์และ ความงดงามตามธรรมชาติอยู่มาก เป็นที่รู้จักและชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
๓. ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland ecosystem) ระบบนี้ได้รับการกำหนดขึ้นใหม่ ต่างหากจากระบบนิเวศทางบกและระบบนิเวศ ทางทะเล เมื่อมีการประชุมระหว่างประเทศใน พ.ศ. ๒๕๑๔ ที่เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน รับรองข้อตกลงระหว่างประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก เรียกว่า อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) เมื่อแรกบังคับใช้อนุสัญญา มีประเทศต่างๆเข้าร่วมเป็นภาคี ๗ ประเทศ หลังจากนั้นจำนวนภาคีได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ จนถึงจำนวน ๑๒๓ ประเทศ เมื่อสิ้น พ.ศ. ๒๕๔๓ ประเทศไทยได้เข้าร่วม เป็นภาคีใน พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นลำดับที่ ๑๑๐
คำจำกัดความของพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ คือ "ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวร และชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงที่ชายฝั่งทะเล และที่ในทะเล ในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน ๖ เมตร" (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, ๒๕๔๔) ในประเทศไทย พื้นที่ชุ่มน้ำประกอบด้วยป่าชายเลน ป่าพรุ หนอง บึง ทะเลสาบ แม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ ในบริเวณดังกล่าวมีพืชพรรณและสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่ ทั้งที่เป็นสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และนก ฉะนั้น ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำจึงมีความหลากหลายทางด้านธรรมชาติ อยู่มาก ตามอนุสัญญาแรมซาร์จะกำหนดให้พื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญในประเทศต่างๆเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ได้รับการรับรอง ในกรณีของประเทศไทยได้เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำ และได้รับการรับรองเป็นแห่งแรกพร้อมกับการเข้าเป็นภาคีสมาชิกใน พ.ศ. ๒๕๔๑ คือ พรุควนขี้เสียน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีนกน้ำอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย คือ ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ ชนิด